มะเร็งกระดูก โรคร้ายที่หลายคนคาดไม่ถึง แม้ว่าจะไม่ได้ยินบ่อย แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย ถ้ารู้ทัน รู้เร็วตั้งแต่เนิ่นๆ มีโอกาสที่จะกลับมาหายขาดได้
มะเร็งกระดูก คืออะไร
มะเร็งกระดูก เกิดจากเซลล์ในเนื้อเยื่อในกระดูก มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนทำให้ยากต่อการควบคุม เมื่อเกิดความผิดปรกติเหล่านี้ขึ้น ก็ส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อในกระดูก สุดท้ายเซลล์เหล่านั้นก็พัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งต่อไป สามารถพบได้กับทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่อายุ 10 ปี จนถึง 40 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคล
ประเภทของมะเร็งกระดูก
การจำแนกมะเร็งกระดูก สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- มะเร็งกระดูกแบบปฐมภูมิ
เป็นมะเร็งที่เกิดจากความผิดปรกติของจากเซลล์ในกระดูกเอง ตั้งแต่การแบ่งเซลล์ และการเจริญเติบโตของเซลล์จนกลายเป็นมะเร็ง ส่วนใหญ่มักเกิดกับบริเวณที่เป็นข้อ ได้แก่ หัวไหล่ เข่า เป็นต้น
- มะเร็งกระดูกแบบทุติยภูมิ
เกิดจากการลุกลามของเซลล์มะเร็งมาจากส่วนอื่น หมายความว่าอวัยวะส่วนอื่นที่เป็นมะเร็ง แล้วมีการลุกลามมายังกระดูก เช่น เป็นมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม เมื่อมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลาม ก็ส่งผลทำให้เกิดมะเร็งกระดูกได้เช่นกัน
อาการของผู้ป่วยมะเร็งกระดูก
มะเร็งกระดูก สามารถสังเกตอาการด้วยตัวเองได้ ได้ดังนี้
- มีอาการปวดบริเวณกระดูก อยู่ดีๆ ก็ปวดขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรให้
- กระดูกหักเป็นบางจุด
- รู้สึกชาตามแขนขาบริเวณที่เป็นมะเร็ง เนื่องจากก้อนเนื้อเข้าไปกดทับเส้นประสาท
- คลำพบก้อนเนื้อที่นูนออกมาให้เห็นบริเวณผิวกระดูก อาจคลำแล้วรู้สึกเจ็บ หรือไม่รู้สึกเจ็บก็ได้
- เจ็บปวดบริเวณข้อต่อหรือมีอาการบวม มักจะเจ็บต่อเนื่องกัน บางครั้งไปกระทบบริเวณนั้น ก็ทำให้เจ็บขึ้นมา
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เป็นไข้ อ่อนเพลีย ตัวร้อน ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวันต่ำลง
สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งกระดูก
ปัจจุบันทางการแพทย์ มีได้วินิจฉัยถึงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งกระดูกแบบปฐมภูมิ ออกมาได้ดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกอยู่แล้ว
เช่น โรคความผิดปรกติของการพัฒนาเซลล์ในกระดูก การเป็นเนื้องอกในกระดูก ข้อนี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งกระดูกได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเหล่านี้มากกว่าคนอายุน้อย
- การส่งต่อทางพันธุกรรม
มะเร็งกระดูก สามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้ หากในอดีตเคยมีประวัติเป็นมะเร็งกระดูก รุ่นลูกรุ่นหลานต่อๆ มา ก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งกระดูกตามไปด้วย รวมถึงเป็นมะเร็งประเภทอื่นๆ ก็ได้
- เจอกับรังสีบ่อยๆ
ผู้ป่วยที่เคยผ่านการรักษาโรคอื่นๆ ผ่านการฉายรังสีบ่อยๆ สามารถส่งผลทำให้เซลล์ในกระดูกผิดปรกติ และกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด
อันตรายของมะเร็งกระดูก
ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระดูกแบบปฐมภูมิ ที่เกิดจากความผิดปรกติของเซลล์ในเนื้อเยื่อกระดูก จนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง เมื่อมีอาการ มักจะมีอาการค่อนข้างรุนแรง หากไม่มีการตรวจและรับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น ก็สามารถเสียชีวิตได้เลย อาจอยู่ได้ไม่เกิน 1-2 ปี ส่วนผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระดูกแบบทุติยภูมิ คือเชื้อแพร่กระจายมาจากมะเร็งในส่วนอื่นๆ อาจจะรุนแรงน้อยกว่า แต่ก็ต้องดูอาการและความรุนแรงของมะเร็งที่กระจายมายังกระดูกด้วย บางครั้งผู้ป่วยไม่ได้เสียชีวิตจากมะเร็งกระดูก แต่เสียชีวิตจากความรุนแรงของมะเร็งในส่วนอื่นก็ได้ ผู้ป่วยบางรายสามารถอยู่ได้นาน บางรายก็อยู่ได้เพียงแค่ 3-6 เดือน
ระยะของมะเร็งกระดูก
มะเร็งกระดูก สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะดังนี้
- ระยะที่ 1 มะเร็งยังอยู่ในกระดูก ยังไม่มีการแพร่กระจาย
- ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งมีการแบ่งตัวในจำนวนที่สูงมากขึ้น แต่ยังไม่มีการกระจายออกจากกระดูก
- ระยะที่ 3 มีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นมากกว่า 1 ตำแหน่ง ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน
- ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งมีการกระจายตัวไปยังอวัยวะส่วนอื่นในร่างกาย สามารถลุกลามไปยังกระดูกส่วนอื่นก็ได้ หรือบางครั้งก็ลุกลามไปยังอวัยที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณที่เป็น เช่น ปอด ตับ ลำไส้ ม้าม เป็นต้น
วิธีการรักษามะเร็งกระดูก
ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งกระดูก แพทย์ต้องวินิจฉัยตามสาเหตุการเกิดของมะเร็งก่อน ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งกระดูกแบบปฐมภูมิ หรือแบบทุติยภูมิ
- ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระดูกแบบปฐมภูมิ สามารถรักษาด้วยวิธีการต่อไปนี้คือ การผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้อร้ายออก ซึ่งผู้ป่วยสามารถหายขาดได้ หลังจากเข้ารับการผ่าตัด ถ้าผู้ป่วยคนใดไม่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์ก็จะเลือกใช้วิธีการฉายรังสีเข้ามาช่วย หรือต้องใช้ทั้งวิธีการผ่าตัด และการฉายรังสีควบคู่กัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการรักษาที่สูงสุด แต่ถ้าผู้ป่วยมีความรุนแรงของโรค และมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว แพทย์ก็จะใช้วิธีการทำเคมีบำบัด เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น
- ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระดูกแบบทุติยภูมิ ต้องเน้นการรักษาแบบตามอาการ เช่น ดูแลไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่น การแนะนำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และสามารถช่วยเหลือตัวเองให้ได้เหมือนกับคนปรกติ รวมถึงการดูแลเยียวยาจิตใจผู้ป่วย ไม่ให้มีอาการทรุด
การตรวจคัดกรองมะเร็งกระดูก
เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดหรืออาการใดๆ ที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งกระดูก แพทย์ก็จะตรวจและวินิจฉัยอย่างละเอียด ซึ่งการตรวจโรคในปัจจุบัน มีความทันสมัยมากขึ้น และมีความแม่นยำสูง ได้แก่
- การเอกซเรย์
เป็นการตรวจเพื่อดูความผิดปรกติของกระดูก ว่ามีสิ่งผิดปรกติเกิดขึ้นบริเวณข้อกระดูกหรือไม่ กระดูกหักหรือไม่ เพื่อค้นหาสาเหตุที่ทำให้มีอาการเจ็บกระดูก เป็นวิธีตรวจที่มีมานานแล้ว และยังใช้อยู่ในปัจจุบัน
- การตรวจด้วยการทำ MRI SCAN
เป็นการตรวจด้วยการใช้สนามแม่เหล็ก ในการสแกนอวัยวะต่างๆ ซึ่งจะแสดงออกมาให้เห็นเป็นภาพ 3 มิติครบทุกมุม สามารถดูรายละเอียดต่างๆ ได้ดีกว่าวิธีอื่น นอกจากดูความผิดปกติของกระดูกได้แล้ว ยังช่วยประเมินความเสี่ยงอย่างอื่นได้อีกด้วย เช่น โอกาสที่จะเกิดการลุกลาม ความเร็วในการลุกลามของเชื้อมะเร็ง เป็นต้น เพื่อหาทางในการรักษาต่อไป
- การตรวจด้วยการทำ CT SCAN
เป็นการใช้รังสีในการเอกซเรย์ในการถ่ายภาพร่างกาย เพื่อดูโอกาสในการกระจายของเชื้อมะเร็งไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
- การสแกนกระดูก
เป็นการตรวจละเอียดลงไปถึงภายในกระดูก เพื่อดูว่าเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังกระดูกส่วนใดแล้วบ้าง เพื่อหาทางรักษาและป้องกัน ไม่ให้มะเร็งกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ต่อไป วิธีนี้สามารถบอกรายละเอียดได้อย่างชัดเจน
- การตรวจไขกระดูก
เป็นการตรวจเพื่อดูว่า มะเร็งมีการลุกลามไปยังไขกระดูกแล้วหรือไม่ โดยแพทย์จะใช้เข็มเจาะไขกระดูก จากนั้นจะนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการอย่างละเอียด และวินิจฉัยโรคต่อไป
สรุปเกี่ยวกับมะเร็งกระดูก
เพราะมะเร็งกระดูก สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ การหมั่นตรวจเช็คอาการของตัวเองอยู่บ่อยๆ ถึงความผิดปรกติของร่างกาย แล้วรีบปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นวิธีที่จะช่วยให้ห่างไกลจากมะเร็งกระดูกได้
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับมะเร็งกระดูก
มะเร็งกระดูก รักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระดูกแบบปฐมภูมิ ที่มีการตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้ทันที ด้วยการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก หรือด้วยวิธีการฉายรังสี แต่หากเป็นมะเร็งกระดูกแบบทุติยภูมิ ต้องรักษาตามอาการ
เมื่อสังเกตได้ถึงความผิดปรกติของร่างกายตัวเอง เช่น มีอาการเจ็บปวดตรงกระดูกบริเวณนั้นบริเวณนี้ ก็ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ทันที ยิ่งรู้เร็ว ก็ยิ่งรักษาได้ง่าย และหายขาดได้เลย อีกอย่างเทคโนโลยีสมัยนี้มีความทันสมัยมาก ทำให้การตรวจวินิจฉัยโรค มีความแม่นยำสูง
การเลือกรับประทานอาหารให้มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยงต่อกระดูก รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางร่ายกาย ซึ่งเราสามารถขอวิธีการปฏิบัติจากแพทย์ที่ทำการรักษาได้ ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร ดูแลตัวเองอย่างไร ซึ่งจะได้ทราบวิธีที่เหมาะสมกับโรค และอาการของเราที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงอย่างอื่นตามมา